แบบฝึกพัฒนาทักษะเซปักตะกร้อ
เล่มที่ 1 เรื่อง การสร้างความคุ้นเคยกับลูกตะกร้อ
ใช้ประกอบการเรียนการสอนวิชาพลศึกษา กีฬาไทย กีฬาสากล (เซปักตะกร้อ) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จัดทำขึ้นเพื่อให้ผู้เรียนและผู้สนใจ
สามารถลงมือฝึกและปฏิบัติได้ด้วยตัวเอง โดยปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้
1. ทำแบบทดสอบก่อนเรียน เรื่อง การสร้างความคุ้นเคยกับลูกตะกร้อ จำนวน 5 ข้อ
2. เฉลยคำตอบก่อนเรียน เรื่อง การสร้างความคุ้นเคยกับลูกตะกร้อ
3. ศึกษาแบบฝึกและฝึกตามแบบฝึกเพื่อพัฒนาทักษะกีฬาเซปักตะกร้อ เรื่อง การสร้างความคุ้นเคยกับลูกตะกร้อ ทุกขั้นตอน
4. แบบทดสอบหลังเรียน เรื่อง การสร้างความคุ้นเคยกับลูกตะกร้อ จำนวน 5 ข้อ
5. เฉลยคำตอบหลังเรียน เรื่อง การสร้างความคุ้นเคยกับลูกตะกร้อ
6. ผู้เรียนทำแบบฝึกหัดด้วยตัวเองและมีความซื่อสัตย์ต่อตัวเอง
7. ขณะศึกษาแบบฝึกปฏิบัติด้วยความตั้งใจ มีความอดทนต่อความยากลำบาก
8. ห้ามขีดเขียนข้อความใดลงในกระดาษคำถาม
9. ถ้ามีข้อสงสัยให้ถามครูผู้สอนทันที
ใบความรู้ที่ 1
เรื่อง การสร้างความคุ้นเคยกับลูกตะกร้อ
1.การโยนลูกตะกร้อขึ้นตรงเตะด้วยข้างเท้าด้านใน
การโยนลูกตะกร้อขึ้นแล้วเตะ1 ครั้งแล้วจับไว้เป็นการสร้างความคุ้นเคยและทักษะในการเตะตะกร้อ
วิธีการโยนลูกตะกร้อขึ้นตรงเตะด้วยข้างเท้าด้านใน 1 ครั้งแล้วจับไว้มีวิธีการดังนี้
1. จับลูกตะกร้อไว้ด้วยมือทั้งสองข้าง
2. โยนลูกขึ้นตรงให้เหนือศีรษะเมื่อลูกตกลงมาได้ระยะให้ใช้เท้าที่ถนัดเตะลูกด้วยข้างเท้าด้านในบริเวณใต้ตาตุ่ม 1 ครั้งแล้วจับไว้
3. ให้ปฏิบัติหลาย ๆ ครั้งจนเกิดความคุ้นเคยกับลูกตะกร้อ
ขั้นตอนการปฏิบัติ ดังนี้
1. ฝึกปฏิบัติคนเดียว
2. ยืนในท่าเตรียมพร้อม
3. จับลูกตะกร้อไว้ด้วยมือทั้งสองข้าง
4. โยนลูกขึ้นตรงให้เหนือศีรษะเมื่อลูกตกลงมาได้ระยะให้ใช้เท้าที่ถนัดเตะลูกด้วยข้างเท้าด้านในบริเวณใต้ตาตุ่ม 1 ครั้งให้ลูกเด้งขึ้นมาถึงหน้าอกแล้วจับไว้
5. ให้ปฏิบัติตั้งแต่ข้อที่ 2 – 4 หลายๆครั้งจนเกิดทักษะความชำนาญ สามารถบังคับทิศทาง ลูกตะกร้อได้
2. การโยนลูกตะกร้อขึ้นแล้วโหม่ง
การโยนลูกตะกร้อขึ้นแล้วโหม่ง 1 ครั้ง แล้วจับไว้เป็นการสร้างความคุ้นเคยในการเล่นตะกร้อ
วิธีการ โยนตะกร้อขึ้นแล้วโหม่งมีดังนี้
1. จับลูกตะกร้อด้วยมือทั้งสองข้าง
2. โยนลูกตะกร้อขึ้นตรงเหนือศีรษะแอ่นตัวไปข้างหลังแล้วใช้ศีรษะบริเวณหน้าผากใต้ริมผมโหม่ง ลูกตะกร้อให้ขึ้นตรง 1 ครั้งเมื่อลูกตกลงมาแล้วจับไว้
3. ให้ปฏิบัติหลาย ๆ ครั้งจนเกิดความชำนาญและคุ้นเคย
ขั้นตอนการปฏิบัติ ดังนี้
1. ฝึกปฏิบัติคนเดียว
2. ยืนในท่าเตรียมพร้อม
3. จับลูกตะกร้อไว้ด้วยมือทั้งสองข้างโยนลูกขึ้นตรงให้เหนือศีรษะเมื่อลูกลอยลงมาได้ระยะ ให้แอ่นตัวไปข้างหลังแล้วใช้ศีรษะบริเวณหน้าผาก
ใต้ริมผมโหม่งลูก 1 ครั้งให้ลูกเด้งขึ้น เมื่อลูกตกลงมาแล้วจับไว้
4. ให้ปฏิบัติหลายๆครั้งจนเกิดทักษะความชำนาญ สามารถบังคับทิศทางลูกตะกร้อได้
3. การใช้เข่าเล่นลูก
การใช้เข่าเล่นลูกเป็นการสร้างความคุ้นเคยและทักษะในการเล่นตะกร้อ
วิธีการใช้เข่าเล่นลูกตะกร้อ
1. จับลูกตะกร้อด้วยมือทั้งสองข้าง
2. โยนลูกตะกร้อขึ้นตรงเหนือศีรษะหรือปล่อยลูกตกลง
3. เมื่อลูกตกลงมาได้ระยะใช้เข่าที่ถนัดเล่นลูก ให้โดนบริเวณเหนือเข่า 1 ครั้ง เมื่อลูกตกลงมาแล้ว จับไว้
4. ให้ปฏิบัติหลาย ๆ ครั้ง จนเกิดทักษะความชำนาญและคุ้นเคยกับลูกตะกร้อ
ขั้นตอนการปฏิบัติ
1. ฝึกปฏิบัติคนเดียว
2. ยืนในท่าเตรียมพร้อม
3. จับลูกตะกร้อไว้ด้วยมือทั้งสองข้าง โยนลูกขึ้นตรงหรือปล่อยให้ลูกตก เมื่อลูกตกลงมาได้ระยะให้ใช้เข่าที่ถนัดเล่นลูกให้โดนบริเวณเหนือเข่า 1 ครั้ง
ให้ลูกเด้งขึ้นเมื่อลูกตกลงมาแล้วจับไว้
4. ให้ปฏิบัติหลาย ๆ ครั้งจนเกิดทักษะความชำนาญ สามารถบังคับทิศทางลูกตะกร้อได้
4. การเลี้ยงลูกไปกับพื้น
การใช้เหลังเท้าเล่นลูกเป็นการสร้างความคุ้นเคยและทักษะในการเล่นตะกร้อ
วิธีการเลี้ยงลูกด้วยหลังเท้า
1. ยืนในท่าเตรียมพร้อม
2. วางลูกลงกับพื้น
3. ใช้หลังเท้าหรือข้างเท้าด้านในเลี้ยงลูกตะกร้อไปกับพื้น
4. ให้ปฏิบัติหลาย ๆ ครั้งจนเกิดทักษะและความคุ้นเคยกับลูกตะกร้อ
กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา สาระพลศึกษา (เซปักตะกร้อ) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
ประกอบแผนการจัดการเรียนรู้ที่ 1 เรื่อง การสร้างความคุ้นเคยกับลูกตะกร้อ
คะแนนเต็ม 5 คะแนน ข้อละ 1 คะแนน เวลา 5 นาที
คำชี้แจง ให้นักเรียนทำเครื่องหมาย X หน้าข้อที่ถูกที่สุดเพียงข้อเดียว
1. การสร้างความคุ้นเคยควรใช้ตะกร้อแบบใด
ก. ตะกร้อเก่า
ข. ตะกร้อแบบใดก็ได้ที่ไม่ชำรุด
ค. ตะกร้อที่ใช้แล้ว
ง. ตะกร้อใหม่
2. การเลี้ยงลูกไปกับพื้นเป็นการสร้าง ความคุ้นเคยกับส่วนใดของร่างกาย
ก. ศีรษะ
ข. เข่า
ค. ลำตัว
ง. เท้า
3. ก่อนเล่นกีฬาตะกร้อต้องสร้างความคุ้นเคย เพราะเหตุใด
ก. ให้เล่นตะกร้อเก่ง
ข. ให้ร่างกายแข็งแรง
ค. เพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้อ
ง. เพื่อความเคยชินกับลูกตะกร้อ
4. การสร้างความคุ้นเคยกับศีรษะควรปฏิบัติ ตามข้อใด
ก. เลี้ยงลูกไปกับพื้น
ข. โยนขึ้นใช้เข่าเล่นลูก
ค. โยนขึ้นใช้ศีรษะโหม่งลูก
ง. ปล่อยลูกลงเตะลูกด้วยหลังเท้า
5. เพราะเหตุใดจึงไม่นิยมนำลูกตะกร้อ ที่ชำรุดมาเล่น
ก. จะเกิดอันตรายกับอวัยวะต่างๆ
ข. ลูกใหม่ราคาแพง
ค. หามาเล่นได้ง่าย
ง. คนนิยมเล่นลูกเก่า
จัดทำโดย คุณครูสมมาตย์ แกล้วกล้า
ครู โรงเรียนอนุบาลสุริยาอุทัยพิมาย